กระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมวิชาการอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ครั้งที่ 2 ส่งเสริมการเข้าถึงบริการอนามัยการเจริญพันธุ์สำหรับสตรี วัยรุ่น และเยาวชน ในกลุ่มนักวิชาการ เครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อขับเคลื่อนทางวิชาการด้านการอนามัยการเจริญพันธุ์อย่างต่อเนื่อง พร้อมเผยมั่นใจปี 2558 ประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมายด้านประชากรและการพัฒนาตามแผนปฏิบัติการ ICPD
วันนี้ (11 กรกฎาคม 2555) นายแพทย์วิชัย เทียนถาวร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ครั้งที่ 2 ณ โรงแรมมณเฑียร ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพมหานคร ว่า นับจากการประชุมระหว่างประเทศเรื่อง ประชากรและการพัฒนา (International Conference on Population and Development - ICPD) เมื่อปี 2537 ณ ประเทศอียิปต์ โดยมี 179 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ได้เห็นตรงกันต่อแผนปฏิบัติการประชากรกับการพัฒนา (ICPD Program for Action) ซึ่งเป็นแผน 20 ปี และยอมรับที่จะดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเพื่อพัฒนาประชากรในประเทศ สร้างความสมดุลระหว่างประชากรและทรัพยากร โดยมุ่งเน้นการตอบสนองความต้องการของ ชายและหญิงมากกว่าการบรรลุเป้าหมายทางประชากร เน้นความเท่าเทียมทางเพศ การส่งเสริมอำนาจสตรี การกระจายตัวของประชากร สิทธิการเจริญพันธุ์และอนามัยการเจริญพันธุ์ ด้วยการให้บริการอนามัยการ เจริญพันธุ์แก่ทุกเพศทุกวัยโดยผ่านระบบสาธารณสุขมูลฐานภายในปี 2558 ซึ่งจะมีการติดตามผลทุก ๆ 5 ปี
นายแพทย์วิชัย กล่าวต่อว่า ในปี 2540 กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมอนามัยได้ประกาศนโยบาย อนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ซึ่งระบุว่า คนไทยทุกคนทั้งชายและหญิงทุกกลุ่มอายุจะต้องมีอนามัยการ เจริญพันธุ์ที่ดีตลอดชีวิต ภายใต้ 10 องค์ประกอบ ได้แก่ การวางแผนครอบครัว การอนามัยแม่และเด็ก เอชไอวี/เอดส์ โรคติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์ มะเร็งของระบบสืบพันธุ์ เพศศึกษา การแท้งและภาวะแทรกซ้อน อนามัยการเจริญพันธุ์วัยรุ่น ภาวะการมีบุตรยาก และภาวะหลังวัยเจริญพันธุ์และผู้สูงอายุ จนกระทั่งในปี 2543 องค์การสหประชาชาติ และ 189 ประเทศ ได้ให้การรับรองคำประกาศแห่งสหัสวรรษ (Millennium Declaration) และตกลงร่วมกันที่จะใช้เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals - MDGs) ขจัดความยากจนและหิวโหย ให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาระดับประถมศึกษา ส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศและส่งเสริมบทบาทสตรี ลดอัตราตายของเด็ก พัฒนาสุขภาพสตรีมีครรภ์ การต่อสู้กับโรคเอดส์ มาลาเรีย และโรคสำคัญอื่น ๆ การรักษาและจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และเชื่อมโยงกับเป้าหมายของแผนปฏิบัติการประชากรและการพัฒนา
ตลอดระยะเวลาในการดำเนินงานที่ผ่านมา ประเทศไทยได้จัดทำรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการ ICPD ทุก 5 ปี โดยผลการรายงานพบว่า ประเทศไทยได้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาส่วนใหญ่และคาดว่าในช่วง 5 ปีสุดท้ายของการทบทวนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการก่อนที่จะประเมินผลสุดท้ายในปี 2558 ประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมายด้านประชากรและการพัฒนา (International Conference on Population and Development - ICPD) เกือบทั้งหมด อาทิ การลดความรุนแรงต่อสตรี การตั้งครรภ์ของวัยรุ่น การทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย การติดเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์ เป็นต้น ซึ่งทุกความสำเร็จในประเด็นดังกล่าวกระทรวงสาธารณสุขต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมกันดำเนินงานเพื่อให้สตรี วัยรุ่น และเยาวชน สามารถเข้าถึงบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ได้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ? ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
นายแพทย์นิทัศน์ รายยวา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ที่ผ่านมาแม้ประเทศไทยจะประสบความสำเร็จในนโยบายชะลออัตราเพิ่มประชากร ทำให้จำนวนเด็กเกิดในแต่ละปีมีแนวโน้มลดลง แต่กลับพบปัญหาเด็กเกิดน้อย ด้อยคุณภาพ ดังนั้น ในปี 2553 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบนโยบายเร่งพัฒนาสาธารณสุขและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2553-2557) เพื่อส่งเสริมให้คนทุกเพศ ทุกวัยมีอนามัยการเจริญพันธุ์ที่ดี โดยใช้ยุทธศาสตร์ ดังนี้
1) เสริมสร้างครอบครัวและเด็กรุ่นใหม่ ให้เข้มแข็ง และมีคุณภาพ
2) ส่งเสริมให้คนทุกเพศทุกวัยมีพฤติกรรมอนามัยเจริญพันธุ์ และสุขภาพทางเพศที่เหมาะสม
3) พัฒนาระบบบริการอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศที่มีคุณภาพและให้มีประสิทธิภาพ
4) พัฒนาระบบบริหารจัดการงานอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศแบบบูรณาการ
5) พัฒนากฎหมาย กฎ และระเบียบ และ
6) พัฒนาและจัดการองค์ความรู้ เทคโนโลยีอนามัยการเจริญพันธุ์ และสุขภาพทางเพศ
ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้แก้ไขร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองอนามัยการเจริญพันธุ์ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2553 โดยร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ให้ความสำคัญกับการให้ข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับอนามัยการเจริญพันธุ์และสุขภาพทางเพศ การให้คำปรึกษาและบริการทั้งภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้ยังรองรับสิทธิของหญิงตั้งครรภ์ทุกคนที่จะได้รับบริการตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ ระหว่างตั้งครรภ์ ระยะคลอดและหลังคลอด และส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่?รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
ดร.นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยร่วมกับภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2553 ? 2557) เพื่อลดปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ดังนี้ 1) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายในการแก้ไขปัญหาอนามัยการเจริญพันธุ์แบบบูรณาการ 2) ส่งเสริมการจัดบริการสุขภาพที่เป็นมิตรสำหรับวัยรุ่น เช่น สนับสนุนการจัดตั้งคลินิกวัยรุ่นในโรงพยาบาลทุกแห่ง เพื่อให้วัยรุ่นเข้าถึงการให้คำปรึกษา บริการด้านสุขภาพและอนามัยการ เจริญพันธุ์ และ 3) ส่งเสริมการเข้าถึงบริการวางแผนครอบครัวและอนามัยการเจริญพันธุ์ เพื่อให้ชายหญิง วัยเจริญพันธุ์มีความรู้ เกิดความตระหนัก และเข้าถึงบริการวางแผนครอบครัวและอนามัยการเจริญพันธุ์ที่มีคุณภาพ
***
กลุ่มสื่อสารองค์กร / 11 กรกฎาคม 2555