กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ
กรมอนามัย ตั้งเป้าปี?54 ลดเด็กไทยติดเชื้อ HIV จากแม่สู่ลูก ร้อยละ 3.5
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนระบบบริการสาธารณสุขเพื่อดูแลรักษาหญิงตังครรภ์
ให้ได้รับบริการอย่างทั่วถึง ตั้งเป้าปี 2554 ลดอัตราการติดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก
ลดเหลือ 180 คน คิดเป็นร้อยละ 3.5
ดร.นพ.สมยศ ดีรัศมี
อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึงการป้องกันการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก
และการดูแลรักษาแม่ ลูก และครอบครัวที่ติดเชื้อเอชไอวี ว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดให้วันที่ 1
ธันวาคม ของทุกปีเป็น วันเอดส์โลก? (WORLD
AIDS DAY) เพื่อเป็นการรณรงค์ยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อเอดส์ กรมอนามัยในฐานะเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินงาน
เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก
จึงได้ให้ความสำคัญในการเพิ่มคุณภาพแม่และเด็ก โดยเฉพาะในกลุ่มหญิงวัยเจริญพันธุ์ ที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อเอชไอวี
ไปสู่ลูกได้ เพราะปัจจุบันในแต่ละปีจะมีหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อเอชไอวี ประมาณ 5,000 - 6,000 คน และมีโอกาสถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกได้ 1,200 - 1,500 คน หากไม่มีการป้องกัน ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมา กรมอนามัยได้ให้คำปรึกษาแก่หญิงตั้งครรภ์
หญิงหลังคลอด และครอบครัวที่ติดเชื้อเอชไอวี เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก
และได้สนับสนุนให้โรงพยาบาลจำนวน 954 แห่ง ดำเนินงานตามแนวนโยบายภายใต้กิจกรรมหลัก คือ
การให้บริการปรึกษาและตรวจเลือดเอชไอวีสำหรับหญิงตั้งครรภ์ด้วยความสมัครใจ โดยหญิงตั้งครรภ์ที่มีผลเลือดเอชไอวีบวกจะได้รับยาต้านไวรัสเพื่อลดการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก
รวมทั้งเด็กที่เกิดจากแม่ที่ติดเชื้อเอชไอวีจะได้รับยาต้านไวรัสหลังคลอดทันที และจะได้รับนมผสมทดแทนนมแม่เป็นเวลา
18 เดือน ซึ่งแม่และลูกหลังคลอดจะได้รับการดูแล อย่างต่อเนื่อง หญิงตั้งครรภ์ที่มีผลเลือดเอชไอวีลบจะได้รับคำแนะนำปรึกษา
เพื่อลดพฤติกรรมเสี่ยงให้คงผลเลือดลบตลอดไป โดยการดำเนินงานดังกล่าวส่งผลให้ในปี 2553
สามารถลดอัตราการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกจาก 1,300
คน เหลือเพียง 190 คน หรือเท่ากับร้อยละ 3.6 และตั้งเป้าในปี 2554 ลดการติดเชื้อเอชไอวีจาก
1,300 คน ลงเหลือ 180 คน คิดเป็นร้อยละ 3.5
ดร.นพ. สมยศ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันหลายประเทศได้มีการให้ยาต้านไวรัสที่มีฤทธิ์สูงแก่หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวีทุกคน โดยผลทางการศึกษาพบว่า สามารถลดการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกได้ประมาณร้อยละ 1 และไม่ก่อให้เกิดปัญหาการดื้อยาเมื่อหยุดยาหลังคลอด ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานป้องกันการถ่ายทอดเอชไอวี รวมทั้งทำให้ครอบครัวมีคุณภาพชีวิต ที่ดี และสามารถเข้าถึงระบบบริการได้อย่างเท่าเทียมทั่วถึงทั้งประเทศ กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ประกาศนโยบายการป้องกันการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก ในปี 2554 ซึ่งประกอบด้วย 1) สถานบริการสาธารณสุขทุกเครือข่าย ควรจัดให้มีการบริการปรึกษาทั้งก่อนและหลังการตรวจหาเอชไอวีอย่างมีคุณภาพ ควรให้คำปรึกษาแบบคู่และเก็บผลการตรวจเป็นความลับ อย่างเคร่งครัด โดยแจ้งให้ทราบเฉพาะบุคคล และผู้ที่ได้รับการตรวจหาเชื้อเอชไอวีอนุญาตเท่านั้น 2) หญิงตั้งครรภ์ทุกคนและสามีหรือคู่ครอง จะได้รับการปรึกษาแบบคู่และตรวจหาเชื้อ เอชไอวีด้วยความสมัครใจ หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวีจะได้รับการตรวจเซลล์ CD4 และได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสที่มีฤทธิ์สูงหรือรักษาด้วยยาต้านไวรัสอื่นๆ ตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข 3) เด็กที่เกิดจากแม่ที่ติดเชื้อเอชไอวี จะได้รับยาต้านไวรัส เมื่อแรกเกิดจะได้รับนมผสมสำหรับเลี้ยงเด็กทารก และได้รับการตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวีตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข และ 4) แม่ ลูก และสามีหรือคู่ครองที่ติดเชื้อเอชไอวี จะได้รับยาต้านไวรัสตามสภาพของการติดเชื้อ การส่งสริมสุขภาพ และการติดตามการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ การป้องกันการถ่ายทอดเอชไอวีจากแม่สู่ลูกนั้น ไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในโรงพยาบาลเท่านั้น
ครอบครัว ชุมชนและสังคม มีความสำคัญเช่นเดียวกัน
เพราะเป็นสภาพแวดล้อมรอบตัวที่จะช่วยเหลือ สนับสนุนให้หญิงตั้งครรภ์ หญิงหลังคลอด
ตลอดจนลูกและครอบครัวที่ติดเชื้อเอชไอวี
สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี
ได้รับบริการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องและมีชีวิตที่ยืนยาว?
อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
กลุ่มสื่อสารองค์กร/ 30
พฤศจิกายน 2553