มูลนิธิกาญจนบารมีเปิดตัวมยุรา? Presenter ร่วมเชิญชวนคนไทยสมทบทุน โครงการคัดกรองมะเร็งเต้านม เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ ๕ รอบ
มูลนิธิกาญจนบารมี ร่วมกับ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวความร่วมมือการดำเนินโครงการ คัดกรองมะเร็งเต้านมเคลื่อนที่ และPresenter มยุรา เศวตศิลา? เชิญชวนให้คนไทยร่วมสมทบทุนในโครงการคัดกรองมะเร็งเต้านม ช่วยเหลือสตรีที่มีปัจจัยเสี่ยง มีรายได้น้อยและอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ให้พ้นภัยมะเร็งเต้านม
วันนี้ (๒ กรกฎาคม ๒๕๕๕) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยในงานแถลงข่าว ความร่วมมือการดำเนินงานโครงการคัดกรองมะเร็งเต้านม โดยเครื่องเอ็กซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ (Mammography) ในสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ ๕ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๕ ณ ลานดิสคัฟเวอรี่ ศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ กรุงเทพมหานคร ว่า หลังจากที่ได้เปิดตัวโครงการคัดกรองมะเร็งเต้านมเคลื่อนที่ฯ ด้วยการจัดสร้างวัตถุมงคลพระพุทธโสธร รุ่นเบญจนวมงคล เพื่อเชิญชวน คนไทยสบทบทุนเข้าร่วมโครงการฯ ในการจัดทำหน่วยคัดกรองมะเร็งเต้านมเคลื่อนที่ เพื่อรณรงค์ ให้ความรู้ ความเข้าใจ เพื่อป้องกันมะเร็งเต้านม ให้กับสตรีมี่ปัจจับเสี่ยง ที่ด้อยโอกาส และอยู่ในพื้นที่ห่างไกลไปแล้ว ล่าสุดได้ร่วมมือกับภาคเอกชน ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงเทพ ฯลฯ และเปิดตัว Presenter มยุรา เศวตศิลา? เพื่อเชิญชวนให้คนไทยร่วมสมทบทุนโครงการฯ และรณรงค์ให้สตรีไทยใส่ใจการป้องกันและตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง
สำหรับสถานการณ์การเกิดโรคมะเร็งเต้านมพบมากที่สุดในสตรีไทย โดยในปี ๒๕๕๓ พบผู้ป่วยมะเร็งเต้านม รายใหม่ ๑๓,๑๕๔ ราย และเสียชีวิตประมาณ ๔,๖๖๕ ราย หรือทุก ๒ ชั่วโมง จะมีผู้เสียชีวิตด้วยมะเร็งเต้านม ๑ คน และ มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากสตรีไทยจำนวนมาก ขาดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการเกิดและการป้องกันมะเร็งเต้านม โดยเฉพาะวิธีการตรวจหามะเร็งเต้านมด้วยตนเอง และที่สำคัญเครื่องเอ็กซเรย์เต้านม (Mammography) ที่สามารถค้นหามะเร็งเต้านมในระยะเริ่มแรกได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีไม่เพียงพอในการให้บริการ โดยเฉพาะสถานพยาบาลในพื้นที่ห่างไกล และการเอ็กซเรย์มะเร็งเต้านมไม่ได้อยู่ในสิทธิประโยชน์ตามหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำให้ผู้มีรายได้น้อย ไม่สามารถที่จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตรวจที่อยู่ในอัตรา ๒,๐๐๐ ? ๕,๐๐๐ บาทได้ จึงทำให้สตรีเหล่านี้ ขาดโอกาส ในการตรวจค้นหามะเร็งเต้านมในระยะเริ่มแรก ซึ่งหากมาพบแพทย์ก็อยู่ในระยะที่ลุกลามและแพร่กระจาย ทำให้ยาก ต่อการรักษา และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูง?
ดังนั้นเพื่อเป็นการช่วยเหลือสตรีที่มีปัจจัยเสี่ยง มีรายได้น้อย และอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ให้พ้นภัยมะเร็งเต้านม กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับมูลนิธิกาญจนบารมี ซึ่งได้รับพระราชานุญาต จากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในฐานะทรงเป็นองค์ประธาน โครงการกาญจนบารมีเฉลิมฉลองพระราชพิธีกาญจนาภิเษก ปีพุทธศักราช ๒๕๓๙ ? ให้จัดตั้งขึ้นในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเถลิงถวัลย์ราชสมบัติปีที่ ๕๐ เพื่อสนับสนุน ส่งเสริมการป้องกันมะเร็ง รวมทั้งช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งที่ยากไร้ให้ได้รับการดูแล จัดทำ โครงการคัดกรองมะเร็งเต้านมโดยเครื่องเอ็กซเรย์เต้านม (Mammography) ในสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในวโรกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๕ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๕? ขึ้น เพื่อกระตุ้นให้ประชาชน ตื่นตัวในการป้องกันมะเร็งเต้านม ให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ และสอนการตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง และในกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงอายุ ๓๕ ? ๔๐ ปี ควรจะตรวจเต้านมค้นหามะเร็งเต้านมระยะเริ่มแรก ด้วยเครื่องเอ็กซเรย์เต้านม (Mammography) แต่การตรวจไม่ได้อยู่ในหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดังนั้นโครงการฯ จะให้บริการเฉพาะสตรีที่มีปัจจัยเสี่ยง ยากจน และอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ได้รับการตรวจด้วยเครื่องเอ็กซเรย์เต้านม (Mammography) โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด
นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่าการเกิดมะเร็งเต้านมในสตรีไทยยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่พบว่ามีปัจจัยเสี่ยง คือกลุ่มสตรีที่มีรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง ไม่รับประทานผัก ขาดการออกกำลังกาย มีน้ำหนักเกินหรืออ้วน กลุ่มคนที่มีฮอร์โมนผิดปกติ เช่น ประจำเดือนมาเมื่ออายุน้อย หรือผู้ที่มีอายุมากกว่า ๕๕ ปี ที่หมดประจำเดือนและกินฮอร์โมน หรือสตรีที่มีญาติพี่น้องสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ หรือมะเร็งหลายๆชนิด แต่ในสตรีอายุ ๒๐ ? ๓๐ ปี ก็พบได้บ่อยเช่นกัน ผู้ป่วยมักมาด้วยอาการมีก้อน และแผลที่เต้านม หรือมีเลือดหรือน้ำเหลืองไหลจากหัวนม สำหรับการป้องกันมะเร็งเต้านม คือ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ ๕ วันๆละ ๓๐ นาที ? ๑ ชั่วโมง รับประทานผักและผลไม้ ให้มากขึ้น ลดอาหารประเภทไขมัน และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการป้องกันที่ดีที่สุด คือ การตรวจพบให้เร็วที่สุด ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ซึ่งทำได้ ๒ วิธี คือ การตรวจเต้านมด้วยตนเอง โดยเฉพาะสตรีที่มีอายุ ๒๐ ปีขึ้นไป ควรตรวจเป็นประจำทุกเดือน ซึ่งในการตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง จะสามารถคลำพบก้อนที่โตประมาณ ๑ ซม. ขึ้นไปได้ หากตรวจพบในระยะ ๒-๕ ซม. อัตราการรอดชีวิตมีถึงร้อยละ ๗๐-๙๐ หากคลำพบก้อนขนาด ๕ ซม. ขึ้นไป อัตราการอยู่รอดมีเพียงร้อยละ ๑๕-๓๐ เท่านั้น ส่วนสตรีที่อายุ ๓๕ ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจโดยบุคลากรทางการแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่มีความชำนาญทุกปี และสตรีที่มีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านม ควรเข้ารับการตรวจมะเร็งเต้านม ด้วยเครื่องเอ็กซเรย์เต้านม(Mammography) ที่สามารถพบก้อนได้ตั้งแต่ขนาด ๒-๓ มม.ขึ้นไป ซึ่งหากพบในระยะนี้ จะสามารถรักษาให้หายได้ เพราะมะเร็งขนาดเล็กมากและยังไม่แพร่ไปที่อื่น
ดร.นพ.สมยศ ดีรัศมี ประธานมูลนิธิกาญจนบารมี และอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เนื่องจากการจัดตั้งหน่วยคัดกรองมะเร็งเต้านมเคลื่อนที่ จำเป็นต้องใช้งบประมาณสูง กรมอนามัย จึงขอเชิญประชาชนร่วมบริจาคสมทบทุนผ่านธนาคารต่างๆ อาทิ - บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงเทพ สาขาแคราย เลขที่ ๑๘๘- ๐๗๘๕๗๗-๗ ชื่อบัญชี มูลนิธิกาญจนบารมี (คัดกรองมะเร็งเต้านมเคลื่อนที่) - บัญชีเผื่อเรียก ธนาคารออมสิน สาขาแคราย เลขที่ ๐๒ ๐๐๗๑ ๘๑ ๗๕๕๓ ชื่อบัญชีมูลนิธิกาญจนบารมี (คัดกรองมะเร็งเต้านมเคลื่อนที่)รวมทั้งธนาคารกสิกรไทย กรุงศรีอยุธยา ธนาคารทหารไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย ทุกสาขาทั่วประเทศ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ๐ ๒๕๙๑ ๘๑๘๕-๖ ส่วนท่านใดสนใจ บูชาวัตถุมงคลพระพุทธโสธร รุ่นเบญจนวมงคล สั่งจองได้ที่ มูลนิธิกาญจนบารมี โทร. ๐ ๕๙๐ ๔๕๕๕, ๐๘ ๘๕๐๕ ๕๗๗๓ ๐๘ ๘๕๐๐ ๖๘๕๔ ธนาคารกรุงไทย ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือ http://sothorn.anamai.moph.go.th/
ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุข จะจัดหน่วยคัดกรองมะเร็งเต้านมเคลื่อนที่ ๕ หน่วย แต่ละหน่วยจะมีประจำแต่ละภาคครอบคลุมทั้ง ๕ ภาคทั่วประเทศ ลงไปยังชุมชนทั่วประเทศ วันละอำเภอ จันทร์ ?ศุกร์ โดยจะเริ่มดำเนินการพร้อมกัน ๕ ภาค ภาคเหนือเริ่มจากจังหวัดพิษณุโลก ภาคกลางจังหวัดอยุธยา ภาคอีสาน จังหวัดนครราชสีมา ภาคตะวันออก จังหวัดชลบุรี และภาคใต้ เริ่มที่จังหวัดชุมพร ซึ่งในแต่ละหน่วยประกอบด้วยรถประชาสัมพันธ์ รถนิทรรศการเคลื่อนที่ให้ความรู้ รถสอนการตรวจ เต้านมด้วยตนเองให้กับประชาชนในรายที่สงสัย จะตรวจแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และรถเอ็กซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ ในรายที่มีปัจจัยเสี่ยง หรือสงสัยว่าจะเป็นมะเร็งเต้านม และที่ด้อยโอกาส จะได้รับการตรวจด้วยเครื่องเอ็กซเรย์เต้านม โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด และหากพบว่าเป็นมะเร็งเต้านม ก็จะส่งต่อเข้ารักษาที่โรงพยาบาลในจังหวัดนั้นๆ ในระบบหลักประกันสุขภาพ ซึ่งเป้าหมายเอ็กซเรย์เต้านมในสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส ภายใน ๕ ปี จำนวน ๒๕๐,๐๐๐ ราย จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี ๒๕๕๖ - ๒๕๖๐ ด้วยงบประมาณ ๓๐๐ ล้านบาท
นอกจากนี้ภายในงาน มูลนิธิกาญจนบารมี และกระทรวงสาธารณสุข ยังได้เปิดตัว มยุรา เศวตศิลา Presenter เพื่อรณรงค์ให้สตรีไทยตระหนักถึงการป้องกันมะเร็งเต้านม และเชิญชวนให้ประชาชนทั่งประเทศ ร่วมบริจาคสมทบทุนโครงการฯ ทั้งยังจัดทำเสื้อพิเศษของโครงการฯ เพื่อหารายได้สมทบทุนการจัดตั้งหน่วยคัดกรองมะเร็งเต้านมเคลื่อนที่ นำทัพดาราชื่อดัง อาทิเข็ม กฤตธีรา อินพรวิจิตร น็อต วรฤทธิ์ เฟื่องอารมณ์ นก อุษณี วัฒฐาน กิก ดนัย จารุจินดา เอี๊ยม วรรษพ วัฒนากุล มาจำหน่ายเสื้อให้กับประชาชนที่สนใจสบทบทุนอย่างใกล้ชิด โดยเสื้อยืด จำหน่ายราคา ๒๙๙ บาท และเสื้อโปโล ๓๙๙ บาท และในวันที่ ๒๑ กรกฎาคม จะจัดกิจกรรมจำหน่ายเสื้อ เพื่อสมทบทุนอีกครั้ง ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิร์ด
***
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
ฝ่ายประชาสัมพันธ์โครงการฯ
ธนวรรณ สุทธิสว่าง ๐๘ ๖๕๒๖ ๙๘๓๙
ศรีสุดา ชูสังข์ ๐๘ ๙๖๖๔ ๙๓๕๖
****************************
กลุ่มสื่อสารองค์กร / ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๕