กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จับมือสถานประกอบกิจการด้านการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ สวนสาธารณะ และสถาบันการศึกษา ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนามาตรฐานสถานบริการออกกำลังกาย เพื่อยกระดับคุณภาพให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานสถานบริการออกกำลังกาย พร้อมเปิดสอนหลักสูตรผู้ฝึกสอนการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
วันนี้ (22 กรกฎาคม 2557) ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุม เชิงปฏิบัติการเรื่อง การพัฒนาสถานบริการออกกำลังกาย สู่มาตรฐานกรมอนามัย? และพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนามาตรฐานสถานบริการออกกำลังกาย การเปิดอบรมหลักสูตรผู้ฝึกสอนการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพระหว่างกรมอนามัย และสถานประกอบกิจการด้านออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ สวนสาธารณะ และสถาบันการศึกษา ณ ห้องแคทลียา โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร ว่า จากข้อมูลองค์การอนามัยโลก พบว่า การออกกำลังกายที่ไม่เพียงพอเป็นสาเหตุของโรคหัวใจและหลอดเลือด ร้อยละ 22-23 โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ร้อยละ 16-17 เบาหวาน ร้ออยละ 15 หลอดเลือดสมอง ร้อยละ 12-13 และสำนักงานสถิติแห่งชาติได้รายงานว่าในปี 2550 คนไทยอายุ 11 ปีขึ้นไปมีอาการป่วยในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมาร้อยละ 16.7 ในจำนวนนี้เป็นผู้ไม่ออกกำลังกายร้อยละ 68.5 และผู้ที่เข้าพักรักษาในสถานพยาบาลระหว่าง 12 เดือนก่อนวันสัมภาษณ์ มีร้อยละ 6.1 ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่ออกกำลังกายร้อยละ 74.2 และผู้ที่ออกกำลังกายส่วนใหญ่นิยมออกกำลังกายในพื้นที่สาธารณะ ร้อยละ 59.1 บริเวณบ้านร้อยละ 32.9 และสถานบริการเอกชน ร้อยละ 2.0
ดร.นพ.พรเทพ กล่าวต่อไปว่า กรมอนามัย ได้เล็งเห็นความสำคัญและความจำเป็นของสถานที่ออกกำลังกาย เพื่อพัฒนาให้มีศักยภาพในการให้บริการที่ถูกต้อง เหมาะสม และปลอดภัย จึงได้กำหนดเกณฑ์มาตรฐานสถานบริการออกกำลังกายขึ้น แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ สถานประกอบกิจการด้านการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพหรือฟิตเนสเซ็นเตอร์ และสวนสาธารณะเพื่อการออกกำลังกาย ร่วมกันพัฒนาสถานบริการออกกำลังกาย ดังนี้
1) สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพบุคลากรของสถานบริการออกกำลังกายตามเกณฑ์มาตรฐานสถานบริการออกกำลังกายของกรมอนามัย
2) สถานบริการออกกำลังกายจะพัฒนาสถานบริการให้มีคุณลักษณะตามเกณฑ์มาตรฐานสถานบริการออกกำลังกายของกรมอนามัย
3) จัดให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลสารสนเทศ ข้อเสนอแนะ และข้อคิดเห็นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน รวมถึงการขยายรูปแบบการพัฒนาคุณภาพสถานบริการออกกำลังกายให้กว้างขวางออกไป และ
4) ร่วมกันเผยแพร่ข้อมูล รวมถึงประชาสัมพันธ์ข่าวสารการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่เป็นประโยชน์ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนใส่ใจในการออกกำลังกายเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ เกณฑ์มาตรฐานสถานประกอบกิจการด้านการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ประกอบด้วย
1) มาตรฐานด้านอาคารสถานที่และสิ่งแวดล้อม เช่น อาคารและคุณลักษณะภายในมีความมั่นคง แข็งแรง เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร
2) มาตรฐานด้านอุปกรณ์ออกกำลังกาย เช่น มีระบบและรายงานการตรวจเช็คอุปกรณ์ออกกำลังกายให้มีความแข็งแรง ทนทาน สะอาด และพร้อมใช้งานทุกวัน
3) มาตรฐานการให้บริการ เช่น จัดทำป้ายคำแนะนำ/คำเตือน ในการออกกำลังกาย โดยติดไว้ให้เห็นอย่างชัดเจน
4) มาตรฐานด้านบุคลากร ผู้ให้บริการ เช่น บุคลากรผู้ให้บริการออกกำลังกาย ต้องมีคุณสมบัติจบการศึกษาขั้นต่ำปริญญาตรีทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาศาสตร์การกีฬา หรือพลศึกษา และผ่านการอบรมหลักสูตรผู้ฝึกสอนการออกกำลังกาย (Instructor Exercise) ที่จัดโดยกรมอนามัย หรือหลักสูตรที่ได้รับความเห็นชอบร่วมกันระหว่างกรมอนามัยและสถาบันการศึกษา และ
5) มาตรฐานด้านความปลอดภัยและมาตรการกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น มีอุปกรณ์ช่วยชีวิต มีแผนเตรียมความพร้อมสำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉิน และการซ้อมแผน เป็นต้น? ดร.นพ.พรเทพ กล่าว
อธิบดีกรมอนามัยกล่าวในตอนท้ายว่า กรมอนามัยยังได้ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาให้เปิดอบรมหลักสูตร ผู้ฝึกสอนการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โดยมีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ดังนี้
1) กรมอนามัยจะให้การสนับสนุน การเปิดอบรมหลักสูตรผู้ฝึกสอนการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ กรมอนามัย ของสถาบันการศึกษาทั้ง 3 แห่ง
2) สถาบันการศึกษาแต่ละแห่ง จะเปิดอบรมหลักสูตรผู้ฝึกสอนการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพกรมอนามัย ตามที่กรมอนามัยกำหนด
3) กรมอนามัยและสถาบันการศึกษาแต่ละแห่ง จะประเมินผลสัมฤทธิ์ของหลักสูตร เพื่อการพัฒนาหลักสูตรให้มีคุณภาพ และมาตรฐานยิ่งขึ้น และ
4) กรมอนามัยและสถาบันการศึกษาแต่ละแห่ง จะพัฒนาและศึกษาวิจัยเพื่อยกระดับคุณภาพบุคลากรผู้ฝึกสอนการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
***
สำนักสื่อสารและตอบโต้ความเสี่ยง/ 22 กรกฎาคม 2557