องค์การอนามัยโลก-ยูนิเซฟ สนับสนุนไทยให้ออกกฎหมายตามหลักเกณฑ์สากล มุ่งควบคุมการส่งเสริมการตลาดของอุตสาหกรรมนมผงในไทย นักวิชาการเผย กลเม็ดของอุตสาหกรรมนมผง ?แจกนมผงถึงร.พ. ? ติดต่อแม่โดยตรง- สร้างมายาคติว่านมผงเท่ากับนมแม่?ส่งผลต่อการตัดสินใจใช้นมผงแทนนมแม่
วันนี้ (9 ธันวาคม 2559) นายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยในงานแถลงข่าว "เปิดข้อเท็จจริงพ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดนมผง ปกป้องสุขภาพเด็กไทย? ณ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องมี พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ.... เพื่อช่วยให้แม่และครอบครัวให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องรอบด้านและปกป้องแม่จากการโน้มน้าวด้วยโฆษณาและการส่งเสริมการตลาดวิธีอื่นๆ ปัจจุบัน มีกว่า 80 ประเทศที่มีกฎหมายมาเพื่อกำกับดูแลและควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กแล้ว แต่ประเทศไทยไม่มีกฎหมายนี้ จึงทำให้มีการส่งเสริมการตลาดอย่างแพร่หลาย และทำให้บริษัทเข้าถึงตัวแม่ได้โดยตรง
"กฎหมายนี้จะช่วยสร้างปัจจัยที่เอื้อต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพิ่มโอกาสให้เด็กได้รับนมแม่มากขึ้น และในขณะเดียวกัน ยังช่วยปกป้องแม่ที่จำเป็นต้องใช้นมผงให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องรอบด้านเกี่ยวกับนมผง ไม่ถูกโน้มน้าวด้วยข้อมูลที่เกินจริงตามที่เห็นในโฆษณา? รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
การส่งเสริมการตลาดผลิตภัณฑ์นมผง เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนของไทยต่ำเพียงร้อยละ 12.3 เท่านั้น โดยมีการวิเคราะห์ว่าหากเด็กไทยทุกคนได้รับนมแม่อย่างเต็มที่ จะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเด็กที่ป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงและปอดบวมถึง 269 ล้านบาทต่อปี
ดร. เรณู การ์ก หัวหน้าฝ่ายโรคไม่ติดต่อ องค์การอนามัยโลกประเทศไทย กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกแนะนำชัดเจนว่า เด็กควรได้กินนมแม่อย่างเดียวตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ 6 เดือน หลังจากนั้นควรให้นมแม่ต่อเนื่องควบกับอาหารตามวัยที่เหมาะสมถึง อายุ 2 ปีหรือนานกว่านั้น อีกทั้ง อาหารทดแทนนมแม่ไม่ควรได้รับการโฆษณาหรือส่งเสริมการตลาดใดๆซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์นมที่ระบุว่าสำหรับเด็กอายุ 0-3 ปี และไม่ควรมีการใช้เทคนิคการขายแบบข้ามชนิดหรือ Cross Promotion เช่น ใช้บรรจุภัณฑ์ โทนสี คำขวัญ สัญลักษณ์ มาสคอต ของอาหารทารกและเด็กเล็กที่คล้ายคลึงกับอาหารทดแทนนมแม่เพื่อโฆษณาทางอ้อม มีงานศึกษาวิจัยยืนยันชัดเจนถึงอิทธิพลของการส่งเสริมการตลาดอย่างไม่เหมาะสม ส่งผลให้แม่หยุดเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก่อนเวลาอันควร รวมถึงให้อาหารเสริมก่อนลูกอายุ 6 เดือนอีกด้วย
นางนภัทร พิศาลบุตร เจ้าหน้าที่สื่อสาร องค์การยูนิเซฟประเทศไทย กล่าวว่า การโฆษณานมผงในปัจจุบัน ไม่ได้นำเสนอข้อมูลที่ครบถ้วนและเป็นกลาง เน้นการอวดอ้างสรรพคุณของสารอาหารบางอย่างเท่านั้น ซึ่งอาจทำให้พ่อแม่เข้าใจผิดและบั่นทอนความมั่นใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จึงไม่ควรปล่อยให้การส่งเสริมการตลาดของนมผงบิดเบือนข้อเท็จจริงที่ว่าไม่มีอะไรเทียบเท่านมแม่ได้ ดังนั้น การออกกฎหมายควบคุมการส่งเสริมการตลาดนมผง จึงถือเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมและปกป้องสุขภาพของเด็กในประเทศไทย
ดร.บวรสรรค์ เจี่ยดำรง อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี กล่าวว่า จากผลศึกษาการเฝ้าระวังและติดตามกลยุทธ์การส่งเสริมการตลาดของอุตสาหกรรมนมผงที่ละเมิดหลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก ในปี... พบว่า การส่งเสริมการตลาดนมผงส่วนใหญ่ใช้กลวิธี 5 รูปแบบที่บูรณาการร่วมกันและส่งผลต่อการตัดสินใจของแม่เป็นอย่างมาก ประกอบด้วย 1. การโฆษณา 2. การส่งเสริมการขาย 3. การตลาดทางตรง 4. การตลาดทางอินเตอร์เน็ต และ 5.พนักงานขาย ซึ่งบริษัทได้หลบเลี่ยงหลักเกณฑ์ ด้วยการเอาผลิตภัณฑ์นมผงของเด็กอายุ 1 ปีขึ้นไปมาโฆษณา โดยออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ใกล้เคียงกับนมผงทารกทำให้แม่สามารถ เชื่อมโยงผลิตภัณฑ์ในการเลือกซื้อ นอกจากนี้ ยังพบการละเมิดหลักเกณฑ์สากลฯ โดยการติดต่อสื่อสารกับแม่โดยตรงโดยใช้การตลาดทางตรงผ่านแอปพลิเคชั่นบนมือถือ เฟสบุ๊ค รวมถึงการจัดกิจกรรมพิเศษในโรงพยาบาลและตามงานต่างๆ เพื่อแจกนมผงทดลองถึงแม่และผู้ปกครองโดยตรง
"การสื่อสารการตลาดนมผงในปัจจุบันได้สร้างมายาคติให้แม่เข้าใจว่า นมผงดีเท่ากับนมแม่ ด้วยการโฆษณาว่าเติมสารอาหารต่างๆ ทำให้ความจริงที่ว่านมผงผลิตออกมาก็เพื่อใช้สำหรับแม่ที่ไม่สามารถมีน้ำนมเพื่อเลี้ยงลูกได้หายไป ประกอบกับเมื่อแม่อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ต้องทำงาน ทำให้ตัดสินใจเลือกซื้อนมผงง่ายขึ้น ดังนั้นการออกกฎหมายมาควบคุมการส่งเสริมการตลาดนมผงสำหรับเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึง 3 ปี จะเป็นการควบคุมตั้งแต่ต้นน้ำ ส่งผลให้การทำการส่งเสริมการตลาดทุกรูปแบบไม่สามารถทำได้ ก็เท่ากับว่าเป็นการเปิดโอกาสให้แม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นกลางก่อนที่จะตัดสินใจเลือกนมที่จะใช้เลี้ยงลูก เด็กก็จะมีโอกาสที่จะได้กินนมแม่มากขึ้นโดยเฉพาะแม่ที่มีศักยภาพเพียงพอในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แทนการใช้นมผง และเมื่อไม่มีการส่งเสริมการตลาดนมผงก็ควรจะต้องถูกลงถึง ร้อยละ 20 ? 25? ดร.บวรสรรค์ กล่าว
***
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ/ 9 ธันวาคม 2559