สรุปสถานการณ์และความช่วยเหลือผู้ประสบภัยและฟื้นฟูอนามัยสิ่งแวดล้อม
ในพื้นที่ เขต12 ระหว่างวันที่ 4 - 6 พฤศจิกายน 2553
นายแพทย์ประดิษฐ์ วินิจจะกูล รองอธิบดีกรมอนามัย พร้อมคณะผู้บริหาร กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ที่หาดใหญ่ จ.สงขลา รับฟังสถานการณ์ ประชุมวางแผนฟื้นฟู อนามัยสิ่งแวดล้อมหลังน้ำลด 4 ด้านหลัก ได้แก่ 1.การจัดการขยะสิ่งปฏิกูล 2. การล้างตลาด 3. การเฝ้าระวังน้ำขัง-น้ำเน่า 4. การจัดการแหล่งน้ำดื่ม - น้ำใช้
1. สถานการณ์น้ำท่วมทั่วไป
7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่างเกิดน้ำท่วมในทุกจังหวัด อาทิเช่น
- จังหวัด นราธิวาส มีน้ำท่วมในเขตอำเภอแว้ง และสุคิริน ปัจจุบันเข้าสู่สภาวะน้ำท่วมขังบางแห่ง
- จังหวัดปัตตานี มีปริมาณน้ำจากจังหวัดยะลาไหลสู่อำเภอเขตจังหวัดปัตตานี ทำให้มีอำเภอแม่ลาน โคกโพธิ์ หนองจิก เมือง ยะหริ่ง และยะรัง มีน้ำท่วมขัง
- จังหวัดยะลา พื้นที่บริเวณริมแม่น้ำสายบุรี และแม่น้ำปัตตานี มีน้ำท่วมได้แก่อำเภอรามัน บันนังสตา กรงปินัง ยะหา และเมือง ปัจจุบันไม่มีน้ำท่วมขัง และระดับน้ำทั้งสองสายอยู่ภาวะปกติ
- จังหวัดสตูล น้ำท่วมทุกอำเภอ และปัจจุบันเข้าสู่สภาวะน้ำท่วมขังบางแห่ง และบางแห่งระดับน้ำได้ลดลงแล้ว
- จังหวัดพัทลุง น้ำท่วมทุกอำเภอ และปัจจุบันเข้าสู่สภาวะน้ำท่วมขังบางแห่ง และบางแห่งระดับน้ำได้ลดลงแล้ว
- จังหวัดตรัง น้ำท่วมทุกอำเภอ มากที่สุดอำเภอนาโยง และปัจจุบันเข้าสู่สภาวะน้ำท่วมขังบางแห่ง และบางแห่งระดับน้ำได้ลดลงแล้ว
- จังหวัดสงขลา น้ำท่วมอำเภอนาทวี เทพา จะนะ สะบ้าย้อย สะเดา ระโนด กระแสสินธิ์ สิงหนคร สทิ้งพระ และหาดใหญ่ และปัจจุบันเข้าสู่สภาวะน้ำท่วมขังบางแห่ง และบางแห่งระดับน้ำได้ลดลง
การดำเนินงานของศูนย์อนามัยที่ 12
- ศูนย์ ฯ ได้แต่งตั้งผู้รับผิดชอบในการประสานงาน ให้คำปรึกษา และเข้าร่วมประชุม war room จังหวัดทุกจังหวัด
- ศูนย์ ฯ ได้จัดทีมแพทย์และพยาบาลออกหน่วยตรวจรักษา ในจังหวัดยะลา ดังนี้
1.วันที่ 4 พย. 53 จัดทีมแพทย์และพยาบาลออกหน่วยตรวจรักษา ณ ชุมชนหลังวัดยะลาธรรมาราม(วัดใหม่) อำเภอเมือง จังหวัดยะลา (ในเขตเทศบาลนครยะลา) โดยทีมเจ้าหน้าที่ 22 คน มีผู้มารับบริการจำนวน 84 คน พร้อมนี้ได้แจกถุงยังชีพจำนวน 84 ถุง
2.วันที่ 5 พย. 53 จัดทีมแพทย์และพยาบาลออกหน่วยตรวจรักษา ณ มัสยิดนูรุลอามาลโต๊ะดูรัส อำเภอเมือง จังหวัดยะลา (นอกเขตเทศบาลนครยะลา) โดยทีมเจ้าหน้าที่ 27 คน มีผู้มารับบริการจำนวน 139 คน พร้อมนี้ได้แจกถุงยังชีพจำนวน 139 ถุง 3.ผู้มารับบริการส่วนใหญ่ป่วยด้วยโรคหวัด น้ำกัดเท้า ท้องเสีย ปวดเมื่อย แผลผุพอง และมีภาวะเครียด
2. สภาพปัญหาของเทศบาลนครหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
การจัดการน้ำเสีย
สภาพน้ำท่วมในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่แตกต่างจากพื้นที่น้ำท่วมอื่น ๆ กล่าวคือ น้ำหาดใหญ่ท่วมเร็ว และลดลงเร็วจึงมีบริเวณน้ำขังในเขตเทศบาลบางแห่งบ้างเล็กน้อย จึงไม่มีกรณีน้ำเน่าเสียและไม่มีกลิ่นเหม็นของน้ำเสีย
การจัดการขยะ
ในเขตเทศบาลบนถนนจะพบว่ามีขยะจำนวนมาก ซึ่งเป็นขยะที่เกิดจากเครื่องใช้ เฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ และจะมีขยะอินทรีย์บ้างเล็กน้อย ซึ่งเทศบาลยังไม่สามารถทำการเก็บขนให้หมดได้ แต่ได้ตั้งแผนที่จะทำเก็บขนให้หมดร้อยละ 50ภายใน 3 วัน และร้อยละ 100 ภายใน 7 วัน แต่จากการสำรวจพบว่าปัญหาของขยะจะเกิดจากขยะอินทรีย์ ซึ่งจะเป็นแหล่งเพาะพันธ์ของหนู แมลงสาบ และแมลงวัน ซึ่งมีที่มาจากตลาดสดเป็นหลัก
ในเขตเทศบาลมีตลาดสด 5 แห่ง คือ ตลาดกิมหยง ตลาดพลาซ่า ตลาดหาดใหญ่ใน ตลาดคลองเรียน และตลาดทุ่งเสา ซึ่งทั้ง 5 ตลาดมีตลาดที่ยังไม่ดำเนินการจัดการขยะคือ ตลาดพลาซ่า ตลาดหาดใหญ่ใน ตลาดคลองเรียน โดยเฉพาะตลาดพลาซ่ามีปริมาณขยะจำนวนมาก และหลังจากน้ำท่วมเป็นวันที่ 3 ได้สำรวจพบหนอนแมลงวันบางแล้ว(ซึ่งเป็นช่วงตัวอ่อนของแมลงวัน และหากเกิน 7 - 14 วันจึงจะเป็นตัวแก่ และอาจก่อให้เกิดโรคระบาดต่อไป) และศูนย์ ฯ จะได้ร่วมทำแผนกับเทศบาลนครหาดใหญ่ สสจ.สงขลา และสคร 12 สงขลา ในการดำเนินการล้างตลาด กำจัดขยะอินทรีย์ และหนอนแมลงวัน
การจัดการน้ำ
น้ำประปาในเขตเทศบาลจะเป็นน้ำประปาจากการประปาส่วนภูมิภาค และจะเริ่มเปิดดำเนินการได้ในวันที่ 6 พย. 53 ซึ่งในเบื้องต้นศูนย์ ฯ ได้ประสานทางวาจากับการประปาส่วนภูมิภาคสงขลาให้ดำเนินการเติมคลอรีนให้ปลายท่อมีคลอรีนอิสระ อย่างน้อย 1 ppm เพื่อให้ประชาชนใช้น้ำที่สะอาดในการชะล้างและทำลายเชื้อภายในครัวเรือน และศูนย์ ฯ ได้ดำเนินการเฝ้าระวังคลอรีนน้ำประปา 2 จุดพบว่า มีคลอรีน 1 ppm 1 จุด และไม่พบคลอรีน 1 จุด (ซึ่งกำลังปรับแผนในการเฝ้าระวังให้ครอบคลุมทั้งพื้นที่อีกครั้ง)
ส่วนในพื้นที่รอบนอกได้ประสานให้สสจ.ออกสำรวจระบบประปา และบ่อน้ำอีกครั้ง โดยให้มีการปรับปรุงคุณภาพบ่อน้ำ และเติมคลอรีนในน้ำประปา